นิทานธรรม นางนกกระยางขาว
ได้ต้นเค้าจากเรื่อง
กุลาวกชาดก ต้องการสอนในเรื่องกฎแห่งกรรมตามหลักธรรมของพุทธศาสนาที่ว่า
"หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำความดี ย่อมได้รับผลดีตอบ
ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบ"
ดังจะเห็นจากกรณีของนางสุชาดาภรรยาคนหนึ่งของมฆมาณพ ซึ่งหลังจากเสียชีวิตจากโลกมนุษย์แล้ว
แทนที่นางจะได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ร่วมกับหญิงคนอื่นๆ
กลับไปเกิดในกำเนิดสัตว์อันต่ำต้อยคือเป็นนกกระยางขาว
เพราะผลของการไม่ประกอบกรรมดี มัวแต่รักสวยรักงาม เอาแต่แต่งตัว
ไม่บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เหมือนคนอื่นๆเขา ต่อเมื่อภายหลังนางได้กลับตัวกลับใจมากระทำความดีคือรักษาศีลอย่างเคร่งครัด
นางก็จึงได้ไปอยู่ในสวรรค์
................................................
ในอดีตกาล
มีหมู่บ้านชื่อ อจละ แคว้นมคธ ประเทศชมพูทวีป(อินเดียในปัจจุบัน) มีชายหนุ่มชื่อ
มฆะ หรือ มฆมาณพ อยู่ในหมู่บ้านนี้ด้วย
มฆมาณพมักออกจากบ้านไปพัฒนาพื้นที่ในหมู่บ้านอยู่เสมอๆเมื่อเขายืนอยู่ที่ใดก็ตาม
ก็จะใช้ปลายเท้าคุ้ยฝุ่นให้ราบเรียบแล้วยืนพักอยู่ที่ตรงนั้น
ในขณะที่เขายืนอยู่นั้น
เมื่อมีคนเอาแขนผลักเขาออกไปจากที่นั้นแล้วก็อยู่แทนมฆมาณพไม่ว่าอะไร
เดินหนีไปทำที่อื่นต่อไป และเมื่อถูกขับไล่อีก
มฆมาณพก็ไม่เคยโกรธพวกที่มาผลักไล่เขาเลย
เขามีความดีใจที่คนเหล่านั้นได้รับความสุข
และคิดว่า สิ่งที่เราทำได้ก่อให้เกิดความสุขแก่ผู้อื่น เราทำความดีเพื่อความดี
ทำความดีเพื่อความสุขของผู้อื่น ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
และในขณะเดียวกันก็มีความสุขใจในการทำความดีของตน
ทุกๆเช้า
มฆมาณพก็จะเดินถือจอบออกจากบ้านไป เมื่อเดินมาถึงบริเวณสนามในหมู่บ้าน
เห็นพื้นดินขรุขระไม่ราบเรียบ เขาก็ลงมือปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ
เพื่อให้เป็นที่จัดงานประจำปีของหมู่บ้าน
เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กในหมู่บ้าน
เป็นที่จัดกิจกรรมบุญกุศลของชาวบ้าน เป็นต้นพอถึงฤดูหนาว
ก็จะก่อกองไฟให้พวกชาวบ้านได้ผิงแก้หนาว
ในฤดูร้อนก็จัดหาน้ำดื่มมาไว้ให้ชาวบ้านได้ดื่มแก้กระหายวันหนึ่ง
ขณะที่มฆมาณพกำลังทำงานดังกล่าวอยู่
วันหนึ่งได้มีชายหนุ่มในหมู่บ้านเห็นการทำความดีของมฆมาณพ จึงได้มาร่วมด้วย
มฆมาณพก็เต็มใจ เพราะการทำความดีทำให้เกิดความเจริญแก่ส่วนรวม
ในสังคมใดมีคนทำความดีมาก สังคมนั้นก็เจริญรุ่งเรือง สังคมใดคนทำดีน้อย
แต่ทำชั่วมาก สังคมนั้นย่อมเสื่อม มฆมาณพ
จึงมีเพื่อนมาร่วมงานพัฒนาที่ทะยอยกันมาเรื่อยๆจนกระทั่งมียอดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน
๓๓ คน
เมื่อพวกสหาย
๓๓ คน ช่วยกันทำถนนหนทางให้ราบเรียบ เป็นระยะทาง ๑ โยชน์บ้าง ๒ โยชน์บ้าง ทำสะพาน
ขุดสระ
และสร้างศาลาตามทางสี่แพร่งเพื่อเป็นการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญและเพื่อความสุขของส่วนรวม
นายบ้านกลับคิดว่าเป็นการทำงานลักษณะจิตอาสา ไม่นำผลประโยชน์ใดๆเป็นเงินทองมาให้แก่นายบ้าน
นายบ้านจึงเรียกมฆมาณพและเพื่อนมาตักเตือน ให้เลิกทำงานอย่างที่พวกเขาทำอยู่นั้น
แต่มฆมาณพและเพื่อนๆไม่เชื่อฟัง
เมื่อมฆมาณพและเพื่อนๆไม่ยอมทำตามคำแนะนำ
นายบ้านจึงโกรธเพราะขัดผลประโยชน์ของตน คิดจะทำลายมฆมาณพและสหายให้ได้ ต่อมาวันหนึ่ง
นายบ้านได้เข้าเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลใส่ร้ายว่ามฆมาณพและพวกเป็นพวกโจรเที่ยวจี้
ปล้นฆ่าชาวบ้าน
พระราชาทรงเชื่อคำเพ็ดทูลและมีโองการให้นายบ้านจับตัวมฆมาณพและเพื่อนมาถวายพระราชา
เมื่อนายบ้านจับตัวมฆมาณพและเพื่อนมาเฝ้าแล้ว พระราชาได้พิจารณาโทษโดยตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยวิธีให้ช้างเหยียบตาย
เมื่อพระราชารับสั่งให้จับมฆมาณพและเพื่อนมานอนหงายกลางสนามจะให้ช้างเหยียบนั้น
มฆมาณพไม่รู้จะพึ่งพาใครและสิ่งใด นอกจากความจริงและเมตตาธรรม
จึงได้ให้โอวาทแก่เพื่อนๆว่า “สหายที่รักทั้งหลาย ขณะนี้
พวกเรากำลังเผชิญภัยเฉพาะหน้า ที่พึ่งอย่างอื่นของเราไม่มีเลย
นอกจากคุณธรรมคือเมตตาธรรม ขอท่านจงแผ่จิตเมตตาเสมอกันในพระราชา ในนายบ้าน
ในช้างที่จะเหยียบ และในตัวเองเถิด”
จากนั้นมฆมาณพและเพื่อนๆก็ได้แผ่เมตตาจิตไปในพระราชาผู้มิได้พิจารณาก่อนสั่งลงโทษ
ในนายบ้านผู้ทูลความเท็จแด่พระราชา ในช้างที่จะเหยียบ และในตนเอง
เมื่อควาญช้างไสช้างเข้าไปเหยียบมฆมาณพและเพื่อนๆ
ช้างไม่เหยียบ และไม่อาจเข้าไปใกล้ได้
เพราะอานุภาพของการแผ่เมตตาของมฆมาณพและเพื่อนๆ
พระราชาทรงทราบเรื่องนี้
รับสั่งให้หาเสื่อลำแพนมาคลุมที่ปากหลุมเสียก่อนแล้วค่อยปล่อยช้างเข้าไปเหยียบ
เมื่อเจ้าหน้าที่รับราชโองการเหนือเกล้ากระทำตามแล้ว
ควาญช้างก็ไสช้างเข้าไปเหยียบอีก แต่ช้างไม่ยอมแม้แต่จะเดินเข้าไปใกล้
กลับถอยหลังวิ่งหนีร้องเสียงดังลั่น
พระราชายังไม่หมดความพยายามรับสั่งให้นำช้างอีกหลายเชือกเข้าไปเหยียบอีก
แต่ช้างเหล่านั้นก็วิ่งหนีร้องลั่นเช่นช้างเชือกแรก
ไม่มีช้างตัวไหนเข้าไปเหยียบหรือเข้าใกล้มฆมาณพและเพื่อนๆเลย
พระราชาทรงสงสัยว่าจะมียาอะไรสักอย่างในมือของพวกเขาที่ถูกจับมา
ช้างจึงไม่ยอมเข้าไปใกล้ จึงรับสั่งให้ตรวจค้นอย่างละเอียด
แต่ก็ไม่พบยาหรืออย่างอื่นเลย จึงมีดำริว่าเรื่องนี้น่าจะต้องมีสาเหตุอย่างแน่นอน
ได้รับสั่งให้นำตัวมฆมาณพและเพื่อนมาเข้าเฝ้า ทรงสอบสวนใหม่
ก็ทรงทราบข้อเท็จจริงว่าพระองค์ตัดสินคดีผิดพลาดไปเสียแล้ว
และการที่ช้างไม่เหยียบคนเหล่านี้ก็เพราะอานิสงส์ของการแผ่เมตตาจิตนั่นเอง
พระราชาเมื่อทรงทราบความจริงเช่นนั้นแล้ว
ก็ทรงโสมนัสยินดี ตรัสว่า พ่อหนุ่มทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานเหล่านี้(ช้าง)
ยังรู้คุณของพวกเจ้า ส่วนเราเป็นมนุษย์แท้ๆ ไม่รู้จักคุณของพวกเจ้า
ขอพวกเจ้าจงให้อภัยแก่เราเถิดที่ได้สั่งลงโทษพวกเจ้าผู้ไม่มีความผิดโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อน
ในที่สุด
พระราชาทรงลงโทษนายบ้านผู้กราบทูลเรื่องนี้แก่พระองค์
โดยให้นายบ้านและภรรยาเป็นทาสของมฆมาณพและเพื่อน พร้อมทั้งริบทรัพย์สมบัติ
ส่วนช้างที่จะให้เหยียบมฆมาณพและเพื่อนแต่ไม่ยอมเหยียบนั้น
พระราชาได้พระราชทานแก่มฆมาณพและเพื่อน เพื่อใช้เป็นพาหนะในการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ต่อไป
มฆมาณพและเพื่อนเห็นผลของการทำบุญอันเป็นความดีในปัจจุบัน
ต่างก็มีจิตผ่องใสเบิกบานยิ่งนัก ต่างปรึกษากันว่า
พวกเราอยากจะทำบุญให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก
โดยตกลงใจว่าจะสร้างศาลาเป็นที่พักของคนเดินทางไปมาในหนทางสี่แพ่ง
เมื่อตกลงดังนั้นแล้ว
พวกเขาจึงเรียกช่างไม้มาสร้างศาลาดังกล่าว
และได้ตั้งเป็นกฎเหล็กว่าในการสร้างศาลาครั้งนี้จะไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาวุ่นวาย
นายช่างจะต้องคอยระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎเหล็กนี้อย่างเคร่งครัด
แต่ทว่ามฆมาณพมีภรรยา
๔ คน คือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา วันหนึ่ง นางสุธรรมา
ได้ไปหานายช่างที่สร้างศาลา พูดอ้อนวอนว่า
ขอให้ฉันมีส่วนในการสร้างศาลาหลังนี้ด้วยเถิด แล้วฉันจะให้รางวัลตอบแทน
เมื่อนายช่างรู้ว่าจะได้ค่าน้ำร้อนน้ำชา ก็ตอบตกลงทันที
และนายช่างก็ได้ไปตัดเอาไม้กรรณิกามาตากแห้งทำเป็นช่อฟ้าเสร็จแล้วเอาผ้าพัน นำไปซุกซ่อนไว้ที่บ้านของนางสุธรรมา
เมื่อสร้างศาลาจวนจะเสร็จ
ถึงเวลายกช่อฟ้าขึ้นไปติดศาลา นายช่างไม้ได้พูดกับมฆมาณพและเพื่อนว่า
ถ้าได้ช่อฟ้ามาติดศาลา ก็จะทำให้ศาลาสวยเด่นขึ้น
มฆมาณพและเพื่อนจึงได้เสาะแสวงหาช่อฟ้า
โดยได้ช่วยกันสอบถามหาหลายแห่งแต่ก็ยังหาไม่ได้ และไปได้ข่าวว่าที่บ้านนางสุธรรมามีช่อฟ้านี้
จึงได้ไปขอซื้อแต่นางไม่ยอมขายให้ นางบอกว่าจะให้เปล่าๆ
แต่ทั้งนี้จะต้องให้นางมีส่วนร่วมในการสร้างศาลาหลังนี้ด้วย
เมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมาเช่นนี้ มฆมาณพและเพื่อนจึงจำเป็นต้องผ่อนปรนกฎเหล็กนั้น
และในที่สุดก็ได้เอาช่อฟ้าของนางสุธรรมาไปติดตั้งที่ศาลา
เมื่อนางสุธรรมาประสบความสำเร็จในการมีส่วนร่วมในการสร้างศาลา
ภรรยาคนอื่นของมฆมาณพก็ต้องการทำเช่นนั้นบ้าง
และก็ต้องมีการผ่อนปรนกฎเหล็กตามความจำเป็นอีกเช่นเดียวกัน โดยนางสุจิตรา
ก็ได้สร้างสวนไม้ต้นไม้มีผลและไม้ดอกที่บริเวณศาลา
นางสุนันทาก็สร้างสระปลูกบัวนานาชนิด เป็นที่น่ารื่นรมย์สวยงามยิ่งนัก
มีแต่นางสุชาดาเท่านั้น ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากกิน นอน
แต่งตัวให้สวยงามไปวันหนึ่งๆเท่านั้น
ต่อมาเมื่อมฆมาณพสิ้นชีพลง
ก็ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช ในเทวโลก เพื่อนของมฆมาณพที่เคยร่วมทำความดีมาด้วยกัน
ก็ไปเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์เหมือนกัน นายช่างไปเกิดเป็น วิศณุกรรมเทพบุตร
ช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อเอราวัณ นางสุธรรมา นางสุจิตรา และนางสุนันทา
ไปเกิดเป็นภรรยาของท้าวสักกะ
ส่วนนางสุชาดา
เมื่อสิ้นชีพแล้วได้ไปเกิดเป็นนางนกกระยางขาว ที่หนองน้ำแห่งหนึ่ง
เพราะนางไม่เคยทำบุญกุศลหรือความดีอะไรเลย นอกจากกิน นอน
และแต่งตัวให้สวยงามเท่านั้น ท้าวสักกะทรงคิดถึงนาง
จึงส่องตาทิพย์ไปตรวจดูว่านางไปอยู่ที่ไหน
เมื่อทรงเห็นว่านางไปเกิดเป็นนางนกกระนางขาว จึงไปพานางมายังเทวโลก
เพื่อชมความสวยงามน่ารื่นรมย์ ดูที่ประชุมเทวสภาสุธรรมา ดูสวนสุจิตรา
และสระโบกขรณีสุนันทา
แล้วตรัสว่าหากนางต้องการมาเกิดในเทวโลกต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด
จากนั้นนำนางนกกระยางไปปล่อยไว้ที่เดิม
ตั้งแต่นั้นมา
นางนกกระยางขาวก็จึงรักษาศีล ตามที่รับปากไว้กับท้าวสักกะ
ต่อมาท้าวสักกะได้มาทดสอบว่านางรักษาศีลข้อปาณาติบาต(ไม่ฆ่าสัตว์)อย่างเคร่งครัดจริงหรือไม่
โดยแปลงพระองค์เป็นปลามานอนหงายอยู่ข้างหน้า
นางนกกระยางคิดว่าปลาตายจึงเอาปากคาบหัวปลา ในขณะนั้นปลาก็กระดิกหาง
เมื่อรู้ว่าปลาเป็น นางจึงปล่อยปลานั้นจากปากทันที
ท้าวสักกะเห็นว่านางรักษาศีลจริง
จึงคืนร่างเดิมแล้วตรัสกับนางว่า ดีละๆ ขอให้เจ้าจงรักษาศีลต่อไป อย่าละความเพียร
แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับเทวโลก นางนกกระยางขาวก็รักษาศีลต่อไป
เมื่อนางนกกระยางขาวตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นลูกสาวช่างปั้นหม้อในเมืองพาราณสี
เป็นหญิงที่รักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด
เมื่อท้าวสักกะรู้ว่านางไปเกิดเป็นลูกสาวช่างปั้นหม้อ
จึงแปลงองค์เป็นคนแก่เอาฟักทองบรรทุกเกวียนขับไปหน้าบ้านของนางแล้วร้องว่า
ท่านทั้งหลาย ใครต้องการฟักทอง ขอเชิญแวะเข้ามาทางนี้ เมื่อมีคนมาถามซื้อฟักทอง
ท้าวสักกะปลอมก็จะบอกว่า ฉันไม่ต้องการขายฟักทอง แต่ฉันจะให้เปล่าๆแก่คนที่รักษาศีลอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
เมื่อนางสุชาดาได้ยินคนพูดกันถึงเรื่องฟักทอง
คิดว่านางน่าจะเป็นเจ้าของฟักทองเหล่านั้น เพราะนอกจากนางแล้ว
ก็ไม่มีใครเลยที่รักษาศีล และเมื่อนางเข้าไปสอบถาม
ท้าวสักกะปลอมก็ได้ซักถามถึงเรื่องการรักษาศีล และได้บอกว่า ถ้าอย่างนั้น
ฟักทองทั้งหมดนี้ ฉันยกให้เธอคนเดียวที่รักษาศีล จงรักษาต่อไป
ว่าแล้วก็ชับเกวียนนำฟักทองทั้งเล่มไปไว้ที่หน้าบ้านของนางสุชาดา แล้วก็หายตัวไป
ส่วนนางสุชาดาก็ยังคงรักษาศีลต่อไป จนตลอดชีวิตของนาง
เมื่อสิ้นชีพแล้ว
นางสุชาดา ได้ไปเกิดเป็นธิดาของอสูรชื่อ เวปจิตติ
ด้วยผลแห่งความดีคือรักษาศีลเป็นประจำตลอดชีวิต นางจึงเป็นหญิงที่มีรูปงามน่ารัก
เมื่อนางเติบโตเป็นสาวแล้ว บิดาจึงคิดจะให้นางเลือกคู่ครองด้วยตนเอง
และในพิธีเสี่ยงทายเลือกคู่
ท้าวสักกะก็ได้แปลงพระองค์เป็นอสูรเข้าไปอยู่ในที่ประชุมเหล่าอสูรเพื่อรอรับการคัดเลือกจากนางสุชาดา
ด้วยความรักที่เคยมีมาแต่ชาติก่อน
หรือที่เรียกว่า บุพเพสันนิวาส พอนางเห็นท้าวสักกะ ศรรักก็ปักหัวใจทันที
นางสุชาดาจึงถือพวงมาลัยไปสวมเข้าที่คอของท้าวสักกะแปลงร่างนั้น
ท้าวสักกะจึงได้พานางมายังเทพนคร และตั้งให้เป็นใหญ่กว่าเทพธิดานักฟ้อนสองโกฏิครึ่ง
นางอยู่ในเทพนครจนสิ้นอายุ แล้วก็ไปตามยถากรรมของนางต่อไป.
0 ความคิดเห็น